ข่าวสาร

บทความ

นิตยสาร I แพรว I สิงหาคม 2562

โลกไม่ได้มีไว้เพื่อกอบโกย! เจมส์ ดูอัน ชายเมียนมาร์ผู้พลิกหนี้ให้เป็นเงินหมื่นล้าน

โลกไม่ได้มีไว้เพื่อกอบโกย! เจมส์ ดูอัน ชายเมียนมาร์ผู้พลิกหนี้ให้เป็นเงินหมื่นล้าน

แล้วคุณพลิกฟื้นตัวเองขึ้นมาได้อย่างไรคะ

ผมตัดสินใจบินไปเรียนต่อที่ปักกิ่งในปี 2001 ด้านเอ็นบีเอ  แล้วเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย  เพราะสนใจด้านนี้อยู่แล้ว  หลังจากนั้นก็เรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณะ (Public Economics)  ซึ่งเป็นอีกอย่างที่ชอบ

พอเรียนจบตอนปี 2004  ผมชวนนักลงทุนชาวต่างชาติที่รู้จักกัน 2 คนมาร่วมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เมืองไทย  ภายใต้ชื่อบริษัทเฟรเกรนท์  โชคดีอย่างหนึ่งตรงที่ผมไม่เคยเบี้ยวใคร  เป็นหนี้ก็ใช้  เวลาชวนใครทำธุรกิจจึงมักได้รับการตอบรับที่ดี  แล้วที่เลือกเมืองไทย  เพราะผมอยู่มานานกว่าประเทศบ้านเกิดตัวเองอีก  จึงไม่คิดจะไปไหนแล้ว  อยากสร้างครอบครัวตั้งรกรากอยู่ที่นี่

โครงการที่ได้รับการพูดถึงมากอย่างกรีนคอนโดเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ

เริ่มมาจากตอนที่ผมกำลังสร้างตึก The Prime 11  สุขุมวิทซอย 11  ผมเห็นข้อมูลในการก่อสร้างว่าหนึ่งโครงการต้องใช้รถขนขยะออกไปประมาณ 660 คัน  โอ้โห… ทำไมขยะเยอะขนาดนี้  ยิ่งพอหาหนังสือมาอ่านจริงจังก็ยิ่งรู้สึกว่า  เราควรสร้างมาตรฐานเหมือนกับที่โลกตะวันตกเขาทำกันอยู่

ผมรู้สึกประทับใจกับสปิริตของนักธุรกิจที่คำนึงถึงคุณภาพของวัสดุก่อสร้างรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย  จึงใช้เวลาศึกษาอยู่ประมาณ 2 ปี พอปี 2009  ก็เริ่มสร้างกรีนคอนโด ซึ่งเป็นโปรเจ็คท์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  แรกๆ หลายคนท้วงว่า  ระวังเจ๊งนะ  เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ในเมืองไทย  แต่ผมไม่สนใจ  เพราะที่ผ่านมาชีวิตผมไม่ได้อยู่ในโซนปลอดภัยอยู่แล้ว  มักจะเดินอยู่บนเส้นด้ายตลอด

ตรงนี้ไม่ใช่ว่าผมตั้งใจอยากใช้ชีวิตโลดโผนโจนทะยานนะ  แต่มาจากความกล้าคิด  การสร้างกรีนคอนโดแห่งแรกในประเทศไทย  ยอมรับว่าเสี่ยงนะครับ  เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการหรือเปล่า  แต่ผมไม่กลัว  ถ้าเจ๊งก็ไม่เป็นไร  เราเริ่มใหม่ได้เสมอ

ดูเป็นผู้บริหารที่ชอบความท้าทายนะคะ

(หัวเราะ)  ผมอยู่นิ่งๆ ไม่เป็นครับ สิ่งที่ทำให้ผมมีสมาธิจดจ่อได้มีแค่ 2 อย่างคือตอนอ่านหนังสือกับเล่นกีฬา  นอกนั้นไม่เคยหยุด  ให้มานั่งโต๊ะทำงานเฉยๆ นี่ไม่ได้เลย  ผมไม่มีนิสัยการทำงานแบบนั้น

ในแต่ละวันของผมจึงไม่เคยอยู่กับที่  มีออกไปดูงานก่อสร้างบ้าง  ไปดูโชว์รูมขายบ้าง  ผมชอบลงดีเทล  เสาร์-อาทิตย์แทบไม่ได้หยุด  ผมชอบศึกษาเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เดินทางไปต่างประเทศก็บ่อย  ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี  ญี่ปุ่น  พอเจอเทคโนโลยีหรืออะไรที่ไฮเทคก็จะนำมาใช้

ผมเคยนั่งเครื่องบินจากเมืองไทยไปแฟรงก์เฟิร์ต 11 ชั่วโมง  นั่งรถไฟไปสตุทท์การ์ทต่ออีก 2 ชั่วโมง  จากนั้นนั่งรถไปที่ฝรั่งเศสอีก 5 ชั่วโมง  เพื่อดูชิ้นส่วนงานก่อสร้าง ถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น  คำตอบคือเพราะแต่ละชิ้นส่วนหมายถึงคุณภาพในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้าของลูกค้า  ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึง เราเป็นนักพัฒนาการสร้างคอนโด  จึงมีหน้าที่ต้องคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค  ผมยอมรับสิ่งที่ไม่มีมาตรฐานไม่ได้  เพราะเป็นมนุษย์ชอบความสมบูรณ์แบบ

ทีมงานเคยบอกไหมคะว่าคุณทำให้พวกเขาเครียด

บอกตรงๆ ผมไม่เคยรู้ถึงคุณสมบัตินั้นเลยนะ (หัวเราะชอบใจที่แหย่แพรวกลับได้)  อย่างหนหนึ่งผมไปสัมมนาที่ฮ่องกง  ลูกน้องส่งเมสเสจมาบอกว่า  คอนโดขายหมดในวันเดียวเลยครับ  ผมตอบกลับไปว่าดีใจด้วย  แต่ให้ดีใจกันแค่วันเดียวพอนะ  เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำให้ดีกว่านี้อีก

ผมบอกทีมงานเสมอว่านั่นไม่ใช่จุดสูงสุดของเรา  อย่าเพิ่งพอใจแค่นี้  การจะประสบความสำเร็จได้ต้องอย่าเข้าข้างตัวเอง  ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีวันพัฒนา

เวลาเจอหนังสือเล่มไหนดี  ผมจะสั่งซื้อให้พนักงานทุกคนได้อ่านเปิดสมอง  หรือแม้แต่การดูทีวี  บางทีก็เป็นครูที่ดีได้เหมือนกัน  เชื่อไหม  ทุกวันนี้ผมไม่มีระบบการทำงานอะไรทั้งนั้น  เพราะต่างคนต่างรู้บทบาทหน้าที่ของตัวเอง  เหมือนคนแต่งงานกัน  คุณคิดว่าชีวิตคู่ต้องมีระบบไหม

(ท้ายประโยคเขาส่งคำถามกลับมาให้แพรว  ซึ่งเราก็ตอบกลับว่า  ชีวิตคู่ต้องมีใจค่ะ  ก่อนที่จะหัวเราะสนุกสนานกันทั้งสองฝ่าย)

ใช่ครับ ชีวิตคู่ไม่มีมาตรฐาน  ของแบบนี้อยู่ที่ใจ  ระบบอยู่ในใจ  ทำอย่างไรให้ทีมมีใจกับงานต่างหากที่สำคัญ  จากอดีตที่ผ่านมาผมบริหารงานคนเดียวมาตลอด  ทำงานคนเดียวได้ดี  แต่พอต้องมาทำงานร่วมกับคน 100 – 200 คน  จะจัดการอย่างไรให้พนักงาน 200 คนมีเป้าหมายเดียวกัน  เพราะแต่ละคนมาจากสาขาอาชีพที่ต่างกัน  วัฒนธรรม  ครอบครัวก็ไม่เหมือนกัน

ตอนนั้นคิดว่าน่าจะเอาอยู่  แค่ให้ทุกคนทำตามนโยบายที่ผมบอก  มัวแต่โฟกัสไปข้างหน้า  ผมใช้เวลา 5 ปีขยายโปรเจ็คท์  สร้างมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท  แต่ไม่ได้มองว่าข้างหลังผมกำลังมีปัญหา  พนักงานบางคนไม่ได้มีจุดยืนเหมือนเรา  พอขาดการคุยกัน  งานก็ไม่เดิน

ปัญหาเรื่องคนเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในทุกๆ สังคมค่ะ  แล้วคุณแก้ปัญหานี้อย่างไรคะ

ผมคุยมากขึ้น  จนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์กร  เรียกว่า “การสนทนาในเชิงลึก”  การทำงานต้องมีความเข้าใจ  เหมือนการใช้ชีวิตคู่  เป็นไปไม่ได้ที่จะมีแต่มุมรักกันสวยงาม  ต้องมีทะเลาะ  มีปากเสียงกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา  แต่สิ่งที่อันตรายคือทะเลาะเสร็จแล้วไม่ยอมคุย  นานไปมีปัญหาแน่นอน

รู้แจ้งแบบนี้  ชีวิตครอบครัวคงแฮ้ปปี้เว่อร์นะคะ

กับภรรยาเราคุยกันทุกวันครับ  เพราะผมไม่กลับบ้านดึก  มีไปสังสรรค์กับเพื่อนบ้าง  แต่พยายามไม่ให้เกิน 4 – 5 ทุ่ม ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนดี  หรือเขาดุ  แต่เป็นเพราะตอนอายุประมาณยี่สิบต้นๆ ผมเคยใช้ชีวิตหลงทางมาแล้ว   ซึ่งมาจากความเก็บกดที่เราเหนื่อย  พอได้เงินมาจึงหาซื้อรถทีละ 2-3 คัน

แต่จริงๆ มันก็มีข้อดีนะ  เพราะพอเราไปจนสุดสักพัก  อย่างผมจะรู้เลยว่าไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง  ที่สุดจึงขายไปหมด  ทุกวันนี้นั่งรถตู้คันเดียว  ไม่ค่อยได้ใช้เงิน  ช็อปปิ้งก็ไม่ไป

เรื่องงานผมเป็นคนเจ้าระเบียบ  แต่กับตัวเองอะไรก็ได้สบายๆ  เรียบง่าย  กินข้าวที่ไหนก็ได้  ผมชอบอาหารไทยมาก  โดยเฉพาะเมี่ยงคำ  นอนที่ไหนก็ได้  อยู่ที่ไหนก็ได้  ที่ดีๆ หรูๆ ก็ไปมาแล้วรอบโลก  แต่ไปเพื่อศึกษามากกว่า   ซึ่งผมจะพาภรรยาไปด้วย  เพราะช่วงเวลาบนเครื่องบินหลายๆ ชั่วโมงถือเป็นจังหวะที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยกันได้นานที่สุด

ข้อเสียของผมคือเป็นคนประเภทปล่อยวางยาก  ขนาดตอนนอนก็คิด  ตื่นขึ้นมาก็นั่งคิดเรื่องงานตลอด  ไม่เคยมีเวลาว่างเลย  สมมุติผมกลับถึงบ้านประมาณสามทุ่ม  จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงปรับอารมณ์เพื่อพักเรื่องงาน  แต่ยอมรับว่าทำค่อนข้างยากครับ  เพราะบางวันเข้านอนเร็ว  พอตื่นมาตีสามตีสี่ก็นั่งคิดเรื่องงานแล้ว  หยุดตัวเองไม่ได้

ตอนหลังจึงใช้วิธีคุยกับลูกเยอะๆ  เล่นกับลูกบ้าง  จะได้ลืมเรื่องงาน  ผมมีลูก 3 คน  เราสื่อสารกันด้วยภาษาจีน  เพราะอยากให้เขามีโอกาสดีๆ อย่างผม  ว่างๆ ก็พากันไปนั่งสมาธิ  ซึ่งได้ผล  รู้สึกว่าเขามีสมาธิที่จะคุยกับเรามากขึ้น  แล้วก็ให้เรียนตีกอล์ฟทั้ง 3 คน

เป็นคุณพ่อที่ตามใจลูกไหมคะ

ผมไม่เคยตามใจพวกเขาเลย  อยากได้อะไรต้องแลกกับน้ำพักน้ำแรง  ผมเคยให้ลูกคนโตลองมาทำงานที่บริษัท  มีหน้าที่คอยเปิด-ปิดประตูให้ลูกค้า  ให้เงินค่าขนมวันละ 60 บาท  เขาต่อรองบอกว่าค่าแรงขั้นต่ำต้องได้ 300 บาท  ผมยืนยันว่าไม่ได้  ทำงานแค่ครึ่งวัน  พ่อให้เพิ่มเป็น 90 บาท  โอเคไหม  เขาก็โอเค (หัวเราะ)

สิ่งที่ผมเน้นย้ำในการสอนลูกคือ  การเป็นคนดี  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ตอนนี้ผมตั้งมูลนิธิให้เขาทั้ง 3 คน  ไม่ว่าเขาจะได้เงินอั่งเปา  เงินรางวัลหรือได้จากใครก็ตาม  ต้องแบ่งครึ่งหนึ่งเข้ามูลนิธิ แรกๆ เขาไม่แฮ็ปปี้เลย  ครั้งหนึ่งลูกคนเล็กยืนเถียงกับผมอยู่ที่ฝรั่งเศส  บอกว่าอยากได้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า  ผมบอกว่าที่เมืองจีนมีขายเยอะแยะ  ทำไมต้องมาซื้อที่นี่แพง  เขาจึงขอว่าจะซื้อด้วยเงินตัวเอง ผมบอกว่าไม่พอหรอก  เพราะเงินครึ่งหนึ่งต้องแบ่งเข้ามูลนิธิ 

โอ้ย!  ทะเลาะกันใหญ่โต แต่ผมพยายามพูดด้วยเหตุผลจนเขาเข้าใจ อยากให้เขารู้จักการให้  เคยให้เขาบริจาคเสื้อกันหนาวไปร้อยกว่าตัว  ไม่ใช่เพื่อบอกใครต่อใครว่าครอบครัวเรามีฐานะดี  แต่อยากให้ลูกรู้ว่า  เวลา ‘ให้’ เขารู้สึกอย่างไร ผมสอนเขาว่า  โลกใบนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้กอบโกยอย่างเดียว  สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ  การให้ที่ก่อเกิดประโยชน์ด้วย

ถึงวันนี้คิดว่าชีวิตเดินมาใกล้คำว่าประสบความสำเร็จหรือยังคะ

ผมว่าความสำเร็จคือการที่เราได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น  ถามว่าต้องการเงินไหม  ก็ต้องการนะ  แต่เงินไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต  เราอยู่ในสังคมนี้  อย่างน้อยต้องไม่ทำลาย  เพราะผมเองมาอยู่จุดนี้ได้ก็เพราะสังคมให้โอกาส  เราแค่ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายว่าต้องเป็นสิ่งที่ดี  ส่วนเรื่องจะเวิร์คไม่เวิร์ค  ของแบบนี้อยู่ที่ตัวเราเองอีกเหมือนกัน

เพราะไม่มีใครทำให้คุณเจ๊งได้  นอกจากตัวคุณเอง

ข้อมูลเพิ่มเติม https://praew.com/people/266601.html/2