NEWS & MEDIA

Article

December 2015 | Dailynews

สู่ยุคอยู่อาศัยยั่งยืน อาคารสูงใช้พลังงานต่ำ

สู่ยุคอยู่อาศัยยั่งยืน อาคารสูงใช้พลังงานต่ำ

ที่อยู่อาศัยเป็นภาคหนึ่งของการใช้พลังงานจำนวนมาก ยิ่งการอยู่อาศัยบนตึกสูง “คอนโดมิเนียม” ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ อีกทั้งยังต้องใช้ไฟฟ้าส่งกำลังให้กำลังลิฟต์ เครื่องปั๊มน้ำ ยังไม่รวมขยะจากการอยู่อาศัยโดยเฉพาะหีบห่อบรรจุอาหารสำเร็จรูป ที่สอดรับกับวิถีชีวิตของคนที่อยู่คอนโดฯ

แนวคิดใหม่ในการสร้างคอนโดฯที่มองทะลุไปมากกว่าทำเลและการดีไซน์ Circle คอนโดฯริมถนนเพชรบุรีทำเลใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า MRT เพชรบุรี ประกาศตัวในตลาดที่อยู่อาศัยกลางอากาศว่าสามารถจัดการระบบต่างๆภายในอาคารจนสามารถลดการใช้พลังงานได้ 30% เมื่อเทียบกับอาคารระดับเดียวกันโดยได้ผ่านการประเมินจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานว่าเป็นอาคารเพื่อการอนุรักษ์แห่งแรกที่เป็นคอนโดมิเนียม

มร. เจมส์ ดูอัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเกรนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เล่าว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังไม่มีคอนโดฯไหนที่คำนึงเรื่องของการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน หลังจากไปศึกษาการนำเทคโนโลยีประหยัดทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในประเทศกลุ่มยุโรปแล้วนำมาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งในกลุ่มประเทศดังกล่าว ที่อยู่อาศัยที่ไม่มีฉลากสีเขียวจะไม่ได้รับความสนใจจากลูกค้า

Circle คอนโดฯ มีจำนวนห้องพัก 470 ห้อง ในระดับความสูง 53 ชั้น เลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้รับรองฉลากความยั่งยืน ใช้หลอดไฟแอลอีดีมีแผงโซล่าเซลล์ 50 กิโลวัตต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง ส่วนพลังงานลมนั้น พบว่าไม่เหมาะกับสภาพอากาศในกรุงเทพฯ และสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องของเครื่องปรับอากาศ แนวทางหนึ่งที่จะลดความร้อนให้เกิดในห้องให้น้อยที่สุด การเลือกใช้กระจกดับเบิ้ลกลาสเพื่อป้องกันความร้อนจากแสงยูวีจากด้านนอกเข้ามา เมื่อความร้อนเข้ามาน้อย เครื่องปรับอากาศก็ทำงานน้อยลง 

ขณะเดียวกันเมื่อเปิดกระจกบานใหญ่ริมระเบียง ตามหลักกลศาสตร์เมื่อลมพัดเข้าต้องมีทางออกเพื่อให้อากาศในห้องพัดเย็นสบาย ในระหว่างทางเดินหน้าห้องของทุกห้องพักจะอัดอากาศเข้าไปที่เรียกว่าพีคูเอ เพื่อให้มีพลังลมผลักเข้าไปทางช่องประตูด้านล่างเพื่อให้เกิดลมปะทะทำให้ผู้อยู่อาศัยเย็นสบายจากลมธรรมชาติ

ในพื้นที่ส่วนกลาง ล็อบบี้ ส่วนฟิตเนสต่างๆหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ ความร้อนจากคอมเพรสเซอร์แอร์ทั้งของลูกบ้านและพื้นที่ส่วนกลางถูกกักเก็บไว้ พลังงานความร้อนตรงนี้นำมาผลิตน้ำอุ่น

เช่นเดียวกัน ชีวิตการอยู่อาศัยในเมืองการเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นเท่ากับการผลิตขยะ การออกแบบให้ทุกห้องมีก๊อกน้ำดื่ม โดยได้ใช้น้ำประปามาผ่านเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่มาตรฐานเดียวกับน้ำดื่มบรรจุขวดที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันยังให้มีระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกเดือนตามมาตรฐานของ อย. ซึ่งลูกบ้านต้องจ่ายค่าน้ำดื่มกับนิติบุคคล มีมิเตอร์แยกให้แต่ละห้องเช่นเดียวกับน้ำประปา แต่ราคาน้ำดื่มต่อลิตรนั้นถูกกว่าการซื้อน้ำดื่มจากร้านสะดวกซื้อแน่นอน เม็ดเงินจากการจ่ายค่าบริการน้ำดื่มเมื่อหักส่วนค่าใช้จ่ายแล้วจะเป็นทุนรอนในการดูแลระบบสาธารณูปโภคส่วนกลางต่อไป

ระบบบำบัดน้ำเสียที่นี่สามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้ถึง 60 คิว ซึ่งคำนวณปริมาณการใช้น้ำของลูกบ้านจำนวน 470 ห้อง ใช้น้ำประมาณ 70 คิว แต่นำน้ำกลับมาใช้ได้ 60 คิว ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้ในการอาบน้ำและซักล้างต่างๆ ไม่ใช้น้ำในระบบชักโครก

มาดูในส่วนของลิฟต์ขึ้นลง เลือกใช้ลิฟต์ที่มีนวัตกรรมดึงพลังงานจากการดิ่งตัวของลิฟต์ลงมา ผลิตกระแสไฟฟ้าบรรจุไว้ในแบตเตอรี่ เท่ากับว่าระหว่างที่ลิฟต์ทิ้งตัวลงมาได้พลังงานกลับไปใช้ไม่เสียเปล่า สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าได้ 30% ของค่าไฟฟ้าที่ใช้กับลิฟต์ 1 ตัว ลิฟต์ลักษณะนี้ต้องใช้กับอาคารที่สูงเกิน 30 ชั้นจึงจะมีความคุ้มค่า

สำหรับในสัดส่วนของพื้นที่สีเขียว มร. เจมส์ บอกว่า ทำตามที่กฎหมายกำหนดแต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือการสร้างทางลู่วิ่งระยะทาง 400 เมตร “ลู่วิ่งไม่ได้ทำให้วิ่งอย่างเดียวแต่ให้เป็นทางเดินมีทั้งความลาดชัน เรามองเรื่องของผู้สูงอายุ เด็กๆ จะชอบว่ายน้ำ คนหมุ่มสาวเข้าฟิตเนส แต่คนแก่เราต้องคิดถึงเขาด้วย เราแคร์ทุกชีวิตที่อยู่คอนโดฯเมื่อแก่ตัวแล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร” ผู้บริหาร บริษัท เฟรเกรนท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บอกเล่า 

การอยู่ในธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้มาเกือบ 10 ปีของคุณเจมส์ พยายามสร้างที่อยู่อาศัยให้คนอยู่อาศัยมีความสุข นำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไข เช่นเดียวกันได้ต่อยอดให้มีธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ขึ้นในคอนโดฯด้วย ทำหน้าที่ตั้งแต่ซักผ้า ไปจนถึงเปลี่ยนก๊อกน้ำที่ทีมช่างผ่านการอบรมจากบริษัทคอนโดฯเลือกใช้ให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีของบริษัทไหนก็ต้องให้คนที่รู้เทคโนโลยีนั้นจัดการภายใต้แนวคิดว่าเราไม่ทิ้งกัน

เมื่อถามถึงเรื่องราคาผู้บริหารการันตีว่าราคาอยู่ในระดับเดียวกับคอนโดฯที่ขายในท้องตลาดเมื่อวัดขนาดพื้นที่และเทียบทำเลเพราะการศึกษาหาข้อมูลตลอดจนเลือกใช้สินค้าที่มีความยั่งยืนในการก่อสร้างไม่ได้ทำให้ต้นทุนของราคานั้นสูงขึ้นแต่อย่างใด สนนราคาเริ่มต้นที่ 7 ล้านบาท จนถึงหลัก 60 ล้านบาท ในห้องระดับเพนท์เฮาส์ที่เหมาทั้งฟลอร์

“เมื่อเข้ามาในธุรกิจอสังหา จึงต้องทำอะไรที่เหนือกว่าปัจจุบันเพราะการอยู่อาศัยใช้พลังงาน 50-60% ดังนั้นเมื่อทำธุรกิจนี้จึงมีหน้าที่ประหยัดพลังงาน”  มร. เจมส์ทิ้งท้าย